ฮูบแต้ม เลื่องลือชื่อ กระซิบรักเมืองน่าน
วัดภูมินทร์ กับกาลเวลากว่า 400 ปี ศรีเมืองน่าน
หลังจากพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เจ้าผู้ครองนครเมืองน่าน องค์ที่ 40 และองค์ที่ 41 แห่งนครเมืองน่าน ขึ้นครองนครได้ 6 ปี ก็ได้สร้างวัดภูมินทร์ขึ้นในปี พ.ศ. 2139 ซึ่งตรงกับสมัยล้านนา รวมระยะเวลาจวบจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2563) ก็มีอายุมากถึง 424 ปีแล้ว โดยที่มาของชื่อวัดนั้นมีปรากฏหลักฐานในคัมภีร์เมืองเหนือ ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า "แต่เดิมวัดภูมินทร์มีชื่อว่า วัดพรหมมินทร์ ตามชื่อของเจ้าผู้ครองนคร แต่ก็ได้มีการเรียกชื่อเพี้ยนกันไปกลายเป็นวัดภูมินทร์ดั่งในปัจจุบัน" สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของวัดภูมินทร์ ก็คือ พระอุโบสถและพระวิหาร ซึ่งเป็นอาคารหลังเดียวกัน โดดเด่นในด้านสถาปัตยกรรม มีลักษณะเป็นรูปทรงจตุรมุข สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเป็นหลังแรกของประเทศไทย ทั้ง 4 ด้านมีประตูไม้แกะสลักลวดลายงดงามอ่อนช้อย โดยฝีมือของช่างล้านนาในสมัยนั้น โครงสร้างของหลังคาถูกค้ำด้วยเสาไม้สัก 12 ต้น ลงรักปิดทองเคลือบเงาเป็นรูปดอกไม้และช้างสวยวิจิตรตระการตา
บริเวณด้านหน้าประตูอุโบสถทางด้านทิศเหนือ มีรูปปั้นนาคขนาบข้างบันไดทั้ง 2 ฝั่ง ลำตัวทอดยาวไปรับกับตัวพระอุโบสถและพระวิหาร คล้ายเอาหลังหนุนไว้ คนโบราณจะกล่าวว่า นาคสะดุ้ง แห่แหนพระอุโบสถเทินไว้บนกลางลำตัว ตามความเชื่อที่ว่า "เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระองค์ได้เสด็จผ่านบันไดแก้วที่เทวดาเนรมิตขึ้นและมีพญานาค 2 ตัวหนุนหลังเอาไว้"โดยส่วนกลางของบันไดนาคจะมีช่องทรงโค้งทั้ง 2 ด้าน ผู้เฒ่าผู้แก่จะบอกกันว่า หากคู่รักได้ลอดวนตามเข็มนาฬิกา 3 รอบ จะสมหวังดังตั้งใจ และยังเชื่ออีกว่าหากคนต่างถิ่นมาลอดจะได้กลับไปเยือนเมืองน่านอีกครั้ง
เมื่อเดินเข้าไปยังด้านในของพระอุโบสถ จะปรากฏภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังลายเส้นสวยงามทั้ง 4 ด้าน เป็นศิลปกรรมแบบไทลื้อ คนพื้นเมืองเรียกกันว่า ฮูบแต้ม ภาพวาดได้แสดงถึงเรื่องราวของพุทธชาดก ตำนานพื้นบ้าน และความเป็นอยู่ของชาวน่านในอดีต ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้ถูกวาดขึ้นช่วงการซ่อมแซมพระอุโบสถครั้งใหญ่ ในสมัยของเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 62 และเป็นเจ้าผู้ครองนครเมืองน่าน องค์ที่ 12 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ หรือราว ๆ ปี พ.ศ. 2410-2417



ภาพที่สะดุดตาและมีชื่อเสียง คือ ปู่ม่านย่าม่าน และ นางสีไว เป็นผลงานของ "หนานบัวผัน" จิตรกรพื้นถิ่นเชื้อสายไทลื้อ ที่มีฝีมือการวาดภาพอันเป็นเอกลักษณ์ มีการใช้สีสันทันสมัย เช่น สีแดง ฟ้า ดำ และน้ำตาลเข้ม โดยภาพปู่ม่านย่าม่านมีลักษณะเป็นภาพชายหญิงคู่หนึ่งคล้ายกำลังกระซิบสนทนา ได้ฉายาว่าภาพ "กระซิบรักบันลือโลก" เมื่อพินิจมองไปในภาพก็มีการสันนิษฐานกันว่า ชายหญิงในภาพนั้นเป็นชายหนุ่มชาวเมียนมาและหญิงสาวชาวไทลื้อ ด้วยการแต่งกาย การเกล้ามวยผม รวมไปถึงชื่อภาพ ปู่ม่านย่าม่าน ที่คำว่า ม่าน หมายถึง เมียนมา คำว่า ปู่ หมายถึง ผู้ชายพ้นวัยเด็ก และคำว่า ย่า หมายถึง ผู้หญิงพ้นวัยเด็ก และทั้งคู่ก็น่าจะเป็นสามีภรรยากัน เพราะในสมัยก่อนนั้นหากเป็นหนุ่มสาวจะถูกเนื้อต้องตัวกันไม่ได้
ส่วนภาพนางสีไวก็งดงามไม่แพ้กัน ทั้งลายเส้นและสีสันก็อ่อนช้อย โดยนางสีไวเป็นตัวละครจากเรื่อง คัทธณะกุมารชาดก ภาพที่วาดขึ้นมีลักษณะเป็นภาพหญิงสาวเกล้ามวยผมเหนือศีรษะ ในมือกำลังปักดอกไม้งามลงบนมวยผมสีดำขลับ ใบหูใส่ม้วนทอง มีผ้าคล้องคอไพล่ชายไปด้านหลัง เปลือยอก นุ่งผ้าลายพื้นเมืองน่าน งดงามหาที่เปรียบมิได้
พระประธานจตุรพักตร์ ศิลปะสุโขทัยน่าศรัทธา
ใจกลางพระอุโบสถ ประดิษฐานพระประธานจตุรพักตร์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวน่านต่างให้ความเคารพศรัทธา เป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยสีทองงามอร่าม 4 องค์ ปางมารวิชัย ซึ่งพระกรรณ (หู) และพระนาสิก (จมูก) ของพระพุทธรูปได้รับอิทธิพลจากศิลปะลาว ประทับนั่งบนฐานชุกชี หันพระพักตร์ออกไปสู่ประตูทั้ง 4 ทิศ และหันเบื้องพระปฤษฎางค์ (หลัง) เข้าหากันตรงกลางของพระอุโบสถ มีความเชื่อกันว่าหากจะขอพรควรเดินวนชมทั้ง 4 องค์ก่อน 1 รอบ หากรู้สึกว่าพระพุทธรูปองค์ไหนยิ้มหรือพระพักตร์เป็นมิตรไมตรีกับเรามากที่สุด ให้ขอพรกับองค์นั้น แล้วจะสมดังใจปรารถนา
วิหารไทลื้อ
ที่นี่มีความสวยงามตามแบบฉบับสถาปัตยกรรมของไทลื้อ และที่โดดเด่นที่สุดในวัดก็คือวิหารไทลื้อแบบ “เตี้ยแจ้” ที่งดงามและเรียบง่าย ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในวิหารที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมไทยลื้อที่สมบูรณ์อย่างมาก
บริเวณหลังคาประดับปูนปั้นรูปสัตว์ บนสุดมีรูปปูนปั้นตัวนกหัสดีลิงค์ ซึ่งเป็นสัตว์หิมพานต์ที่มีหัวเป็นช้างหางเป็นหงส์ เป็นพาหนะของผู้มีบุญ แทนช่อฟ้าของภาคกลาง ต่ำลงมาเป็นรูปนาคแต่ทรงปากงุ้มคล้ายนก บริเวณหางหงส์ทำเป็นรูปเศียรนาคมีลำตัวทอดยาวขึ้นไปจนถึงสันหลังคา น่าชม
วัดหนองบัวตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2215 ที่บ้านหนองบัว เป็นหมู่บ้านชาวไทลื้อกลุ่มใหญ่อาศัยมาช้านาน มีเรื่องเล่าว่าเป็นชาวไทลื้อจากเมืองล้า สิบสองปันนาที่อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองน่าน เมื่อประมาณจุลศักราช 1184 (พ.ศ. 2365)
วิหารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เรียบง่าย มีความโดดเด่นที่จิตรกรรมผาผนังแบบเดียวกับวัดภูมินทร์ วิหารวัดหนองบัว สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2405 โดยการนำของครูบาหลวงสุนันต๊ะร่วมกับชาวบ้านหนองบัวช่วยกันสร้างขึ้น เป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบไทลื้อ
 |
วิหารทำด้วยไม้ ด้านบนเป็นหัวบัว บริเวณคอสองเคยมีภาพพระพุทธเจ้าแต่เลือนไปมากแล้ว |
ภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมที่แสดงเรื่องราวทางพุทธชาดก โดยช่างฝีมือสกุลไทลื้อที่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงสองแห่งคือที่วัดภูมินทร์กับที่วัดหนองบัว ภาพเขียนจิตรกรรมในวิหารวัดหนองบัวเขียนโดย ทิดบัวผัน ซึ่งเป็นช่างชาวลาวพวนที่นายเทพได้นำตัวมาจากเมืองพวนในแคว้นหลวงพระบาง ส่วนเรื่องราวที่เขียนในภาพได้แก่เรื่อง จันทคาธชาดก ซึ่งเป็นนิยายคติธรรมเก่าแก่อันดับที่ 11 ในหนังสือปัญญาสชาดกปัจฉิมภาค นอกจากนี้ในภาพจิตรกรรมยังมีภาพเรือกลไฟและทหารชาวฝรั่งเศส ซึ่งตามประวัติของเรือกลไฟแล้วมีแหล่งกำเนิดอยู่ในยุโรปและอเมริกา สันนิษฐานว่าว่าช่างเขียนคงจะเขียนภาพอยู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 นอกจากนั้นในบางตอนของภาพยังมีการเขียนภาพวิถีชีวิตของชาวไทลื้อเอาไว้ด้วย
พระประธานศิลปะล้านนา และธรรมมาสน์ไม้เก่าแก่ทางด้านซ้าย
ภาพจิตรกรรมในวัดหนองบัวนั้น จะวาดเป็นพุทธประวัติและชาดก โดยภายในวิหารประดิษฐานพระประธานศิลปะล้านนา สีทองอร่าม ด้านข้างซ้ายมีธรรมมาสน์ไม้เก่าแก่ บริเวณด้านหลังมีภาพวาดอดีตพระพุทธเจ้า ส่วนผนังอีกสามด้านนั้นมีภาพจิตรกรรมเขียนอยู่เต็มโดยรอบภาพพระอินทร์มาดีดพิณสามสายถวายพระพุทธเจ้า และ ชาดกจันทคาธ
สื่อว่าสายที่ตึงเกินไปย่อมขาด หย่อนเกินไปย่อมไร้เสียง สายที่ขึงตึงพอดีเท่านั้นจึงบรรเลงเพลงได้ไพเราะ พระพุทธองค์สดับดังนั้นจึงเกิดพระโพธิญาณ ตระหนักถึงทางสายกลาง ยุติการบำเพ็ญทุกรกิริยา และตรัสรู้ในกาลต่อมา
จันทคาธปูจี่ กับสิ่งที่ซ่อนไว้ในจิตรกรรม
ชาดกเรื่อง “จันทคาธ” เป็นชาดกในหนังสือ ปัญญาสชาดก ปัจฉิมภาค คนเหนือเรียกว่า ค่าวธรรมจันทคาธปูจี่ เป็นเรื่องยาวที่สอนทั้งความกตัญญูกตเวที ความเมตตากรุณา ความซื่อสัตย์สุจริต จนถึงการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

ภาพเริ่มจากบริเวณผนังด้านซ้ายพระประธาน ซึ่งลบเลือนพอสมควร เล่าเรื่องเมืองจัมปากนครที่เกิดทุพภิกขภัย ในเมืองมี เด็กชายสองคน หนึ่งเกิดในยามอาทิตย์ดับ หนึ่งเกิดยามราหูอมจันทร์ จึงได้ชื่อว่า สุริยคาธกับจันทคาธ สองพี่น้องยากจน วันหนึ่งจับปูมาได้สี่ตัว พี่ชายนำปูมาจี่ (ย่าง) ให้น้องกินไปตัวหนึ่ง น้องไม่อิ่ม จึงแอบกินปูหมดไปทั้งสี่ตัว พอพ่อแม่มาทราบเรื่อง เกิดโมโห จึงไล่ตี หนีระหกระเหินมาถึงกลางป่า
พระอินทร์กับวิษณุกรรมเทพบุตร จึงจำแลงร่างเป็น งูกัดกับพังพอน เมื่อฝ่ายหนึ่งตายก็นำสมุนไพรมาพ่นใส่ ก็ฟื้นขึ้นมาสู้กันต่อได้ สุริยคาธ เห็นดังนั้นจึงเก็บยาวิเศษไว้ จากนั้นได้รอนแรมมาถึงเมืองกาสี พระราชธิดาเมืองกาสีชื่อนางสุชาตดึงสาถูกงูกัดตาย สุริยคาธอาสาแก้ไขจนนางฟื้น และได้อภิเษกกับนางและครองเมืองกาสีสืบมา

|
ขบวนแห่ทางด้านล่าง จะเห็นว่าชุดแต่งกายเป้นการนุ่งผ้าม่วง สวมหมวก มีทหารฝรั่งใส่กางเกงขายาวถือปืน ตรงกลางเป็นการพักขบวนจัดวางปืน และอื่นๆ แลเห็นตัวเอกใส่ชุดแบบกษัตริย์ ซึ่งเป็น สุริยคาธ ที่ได้ครองเมืองกาสี โดยภาพด้านบนเป็นตอนที่นางสุชาตดึงสาถูกงูกัดตาย
ส่วนจันทคาธก็ได้เดินทางต่อและได้ช่วยเหลือผู้คนอีกมากมายจนไปถึงเมืองอินทปัตถ์ โดยปรากฏภาพอยู่ บริเวณผนังด้านทิศตะวันออกด้านล่างภาพเขียนพระพุทธเจ้าตรงข้ามกับพระประธาน เมื่อจันทคาธเดินทางไปถึงเมืองอินทปัตถ์ ได้รักษานางเทวธิสังกา พระราชธิดาซึ่งตายเพราะโดนเขี้ยวเสือ (ภาพบริเวณนี้ลบเลือนไปมากแล้ว) ต่อมาจันทคาธคิดถึงบิดามารดา จึงประทับเรือสำเภาพร้อมพระชายาจะไปยังเมืองกาสี แต่โดนพายุเรือแตกพัดพรากจากกัน
หลังจากที่จันทคาธช่วยนางเทวธิสังกาแล้ว จึงได้ครองรักกับนาง ภาพเขียนนี้อยู่ใต้ภาพพระพุทธเจ้า ซึ่งเขียนพระราชวังอย่างสวยงาม โดยบอกเล่าเรื่องราวการคลอดลูกแบบสมัยก่อนสอดแทรกไว้ |
นางเทวธิสังกาถูกคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง แล้วเดินผ่านป่าจนไปเจอกับนางปริสุทธิที่บ้านป่าแห่งหนึ่ง จึงได้ขออาศัยอยู่ด้วยฝ่ายจันทคาธ เมื่อขึ้นฝั่งแล้ว ก็พยายามตามหานางเทวธิสังกา ระหว่างทางได้ช่วยฟื้นชีวิตพญานาค และวิทยาธร ได้รับของวิเศษหลายอย่าง
ในผนังเดียวกันนี้ ยังมีภาพที่จันทคาธหลังจากรอนแรมไปหลายเมือง ก็ได้กลับมาพบกันนางเทวธิสังกาและอยู่ครองรักกันสืบมา
ซึ่งลักษณะของภาพเขียนนี้ จะสลับเรื่องไปมาไม่ได้เรียงรายเป็นเส้นตรง แต่หมุนวนกลับมาตามผนังด้านต่างๆ โดยผนังด้านทิศใต้ฝั่งขวาของพระประธาน จะต้องชมบริเวณกลางผนัง เป็นตอนต่อจากที่จันทคาธได้รับของวิเศษแล้ว ก็รอนแรมมาถึงแถบเมืองสังกัสนคร ได้ช่วยบุตรีเศรษฐี ๓ นางซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกัน คือ นางทิพโสดา ปทุมบุผผา และสุคันธเกศี โดยรอนแรมกลางป่ามาจนถึงในเมืองสังกัสนคร บิดาเศรษฐีก็ได้ยกลูกสาวทั้งสามให้อยู่ด้วยนางทั้งสามเพียงคนละเจ็ดวัน จันทคาธก็ขอออกไปตามหานางเทวธิสังกาต่อ จนได้พบกับนางพรหมจารี ที่ถูกพระสุทัสสนจักร สวามีลอยแพมา เนื่องจากพระสุทัสสนจักร ได้ยินถึงความงดงามของนางเทวธิสังกาจึงลอยแพนางพรหมจารีเสีย และเตรียมตัวไปนำนางเทวธิสังกามาเป็นมเหสี แต่นางออกบวชเป็นชี พระสุทัสสจักรจึงรอว่าหากนางสึกออกมาจะมารับตัว
จันทคาธจึงช่วยนางพรหมจารี ไปศึกษาวิชาการต่อสู้ และไตรเวท จากนางสุริยโยธาซึ่งเป็นมารดาเลี้ยงของนางพรหมจารี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะล้างแค้นพระสุทัสนนจักร จนสำเร็จและกลับมายังเมืองอนุราธะ ซึ่งขณะเดียวกันนั้นท้าววากาวินทะแห่งเมืองเวสาลี ได้ขอนางจากพระเจ้าธัมมขันตี พระบิดาของนางพรหมจารี แต่ทรงทราบเรื่องจากนางที่ถูกลอยแพและได้รับการช่วยเหลือจากจันทคาธ จึงจัดการอภิเษกสมรสให้
ต่อมาท้าวกาวิทนะจัดกองทัพมารบกับนางพรหมจารี โดยความช่วยเหลือจากจันทคาธ นางจึงแต่งกองทัพหญิงบริวารออกไปรบจนได้รับชัยชนะ
จันทคาธจึงขอเดินทางไปตามหานางเทวธิสังกา จนพบกันและเดินทางไปช่วยนางพรหมจารีรบกับ ท้าวสุทัสสนจักร ก็ได้รบแพ้นางพรหมจารี ถูกนางบังคับให้ตักน้ำล้างเท้า กับขนอุจจาระ ปัสสาวะ ของนาง และให้กราบเท้านางพรหมจารีทุกๆ วัน เพียงสามวัน สุทัสสนจักรก็ทนไม่ไหวตายไป
ต่อจากนี้ยังมีเรื่องราวอีกพอสมควร จนถึงชั้นลูกของจันทคาธ แต่ไม่ได้เขียนภาพไว้ ตัวละครเหล่านี้เมื่อกลับชาติมาเกิด ที่สำคัญคือ จันทคาธคือพระสมณโคดม นางเทวธิสังกา คือนางยโสธราพิมพา พระสุริยคาธคือพระสารีบุตร สุทัสสนจักรคือพระเทวทัตต์
โบสถ์มีขนาดเล็ก หน้าบันเป็นรูปลายเครือเถา หน้าประตูโบถส์ มีลายปูนปั้นพระพุทธเจ้าปางมารวิชัย ล้อมรอบด้วยลวดลายระบายสีแบบพื้นบ้าน ดูสวยงาม
นอกจากวิหารไทลื้ออันงดงามแล้ว ด้านหลังวัดก็จะมีบ้านไทลื้อจำลอง ที่บอกเล่าชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทลื้อดั้งเดิมให้ได้เห็นกัน และยิ่งได้บรรยากาศมากขึ้นไปอีกด้วยเสียงเพลงพื้นเมืองที่ถูกบรรเลงโดยเหล่าพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยใต้ร่มไม้ใหญ่ที่ด้านหน้าวิหาร

ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น